ข้าวโพดเกษตรศาสตร์ 3 ลดแรงงานไร้แมลงกวน

ศูนย์วิจัยข้าวโพดฯ มก.โชว์ผลงานข้าวโพดฝักอ่อนเกษตรศาสตร์ 3 ช่วยลดการใช้แรงงาน น้ำหนักดี ผลผลิตเยอะ กรีดฝักง่าย ไร้แมลงรบกวน

ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ ผอ.ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยถึงความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนเกษตรศาสตร์ 3 ว่า สืบเนื่องจากการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเกษตรกรมักเจอปัญหาขาดแรงงานในการถอดยอดเกสรตัวผู้ที่อยู่ด้านบนสุดของต้น เพื่อไม่ให้เกิดการผสมพันธุ์เป็นข้าวโพดมีฝัก

“เราเริ่มวิจัยเพื่อแก้ปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2558 โดยนำข้าวโพดฝักอ่อนเกษตรศาสตร์ 1-2 มาปรับปรุงพันธุ์ ให้ได้พันธุ์ข้าวโพดที่มีเกสรตัวผู้ไม่ฟุ้งกระจายลงไปผสมกับเกสรตัวเมีย เพื่อเกษตรกรจะได้ไม่ต้องจ้างแรงงานมาถอดยอดเกสรอีกต่อไป และยังมีผลทำให้แมลงศัตรูพืชไม่มาทำลายต้นข้าวโพดอีกด้วย เพราะเกสรไม่ฟุ้งกระจาย จึงไม่มีกลิ่นออกไปล่อแมลง

 

หลังจากประสบความสำเร็จในแปลงทดลองจนได้พันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 เมื่อปลายปี 2559 จึงเริ่มนำมาให้เกษตรกรได้ทดลองปลูกในแปลงของเกษตรกร ปรากฏได้ผลดีตามที่เกษตรกรต้องการ เป็นที่ชื่นชอบของตลาดต้องการข้าวโพดฝักอ่อนแบบไม่มีขนไหม เนื้อไม่เหนียว ไม่มีเม็ด บริโภคแล้วฝักไม่แข็ง ตลาดต่างประเทศต้องการสูง”

นางวันนา คันซอย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เกษตรกรอาสาทดลองปลูกข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 เผยถึงผลการปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์อื่นๆ ของบริษัทเอกชนที่เคยปลูกมาว่า เริ่มทดลองมาเมื่อต้นปี 2560 ต้นทุนการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเกษตรศาสตร์ 3 อยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อไร่ ต่ำกว่าปลูกพันธุ์ของเอกชน เพราะไม่ต้องจ้างแรงงานถอดยอด ได้ผลผลิตสูงไร่ละ 2 ตัน และได้ต้นขายเป็นอาหารสัตว์ไร่ละ 4 ตัน ในขณะที่พันธุ์ของเอกชนได้ข้าวโพดฝักอ่อนไม่ถึง 2 ตัน ได้ต้นไม่ถึง 3 ตัน

 

นางวันนา ตั้งข้อสังเกตข้าวโพดฝักอ่อนเกษตรศาสตร์ 3 ว่า เป็นพันธุ์ที่ต้องการน้ำมากกว่าพันธุ์ของเอกชน จึงไม่เหมาะสมที่จะปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง แต่เหมาะกับพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน หรือพื้นที่ลุ่มภาคกลางซึ่งมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์.

ที่มา :  ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ลิงค์ : https://www.thairath.co.th/content/1245207